Select Page

วันที่ 24 เมษายน 2567 ที่ ห้องประชุมพญาตานี อาคาร 2 ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ร่วมรับฟังการรายงานข้อมูลการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อศักยภาพทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ของจังหวัดปัตตานี 5 ด้าน ได้แก่ การให้บริการสาธารณะ แนวทางการพัฒนาระบบรถโดยสารสาธารณะ การศึกษาความเป็นไปได้การให้บริการฯ Seaplane แหลมตาชี ปัตตานี และการพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดปัตตานี

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการเชื่อมโยงสนับสนุนการเดินทางไปสู่สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญบนถนนสายวัฒนธรรมในย่านการค้าดั้งเดิมของเมืองท่าปัตตานี ชื่อเส้นทาง ‘อา-รมย์-ดี’ ย่อมาจากชื่อถนน 3 สาย คือ อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ และฤดี ให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางพหุวัฒนธรรมเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองท่าปัตตานี การติดต่อค้าขาย และความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมมลายูผ่านอาคารบ้านเรือน ศิลปะ สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตของชาวปัตตานี รวมทั้งยกระดับการอนุรักษ์เมืองเก่าพร้อมเสนอเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมเชื่อมโยงระหว่างไทย จีน และมุสลิม ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อรับฟังข้อมูลการให้บริการสาธารณะ และแนวทางการพัฒนาระบบรถโดยสารสาธารณะเพื่อรองรับการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับระบบคมนาคม และยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดปัตตานี สำนักงานขนส่งจังหวัดปัตตานี มีเขตพื้นที่รับผิดชอบ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง โคกโพธิ์ ยะรัง หนองจิก แม่ลาน มายอ และยะหริ่ง โดยแนวทางการพัฒนาระบบรถโดยสารสาธารณะรองรับการท่องเที่ยวประกอบด้วย เส้นทางรถโดยสารประจำทาง หมวด 4 สายที่ 8486 ปตตานี – สายบุรี สายที่ 8486 ปัตตานี – สายบุรีแยกช่วง ปัตตานี – แหลมตาชี และได้กำหนดเส้นทาง (กำหนดใหม่ ปตตานี – แหลมตาชี เส้นทางไปแหลมตาชีโดยเชื่อมตอสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดปัตตานี – สถานีรถไฟปัตตานี (โคกโพธิ์)

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยอีกว่า พื้นที่จังหัวดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความสวยงามทางด้านทรัพยากรธรรมชาติสามารถที่จะต่อยอดและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้หากโครงสร้างพื้นฐานมีความสมบูรณ์ทั้งทางบกทางน้ำทางอากาศ ทางราง ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำความเจริญ และนักลงทุน นักท่องเที่ยว เข้ามาสู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นพื้นที่ที่โชคดีมากที่จะสามารถเข้าถึงได้ทุกช่องทาง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ติดชายแดนเพราะฉะนั้นจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจตัวเลข GDP ของจังหวัดก็จะเพิ่มขึ้น สามารถสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นในพื้นที่ พี่น้องประชาชนอยู่ดี กินดี มีฐานะและจะทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ให้กับคนในพื้นที่ต่อไปได้อย่างมหาศาล ซึ่งหากเศรษฐกิจดี ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น ความมั่นคงและความตึงเครียดต่างๆก็จะลดน้อยลง โดยรัฐบาลมีแนวทางที่จะพัฒนาและยกระดับพื้นที่เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเป็นหลักและคิดว่าเราได้ดำเนินการมาถูกทางแล้ว โดยเฉพาะการยกระดับระบบรถไฟทางคู่ที่ใช้งบประมาณในปี 2567 ดำเนินการเริ่มออกแบบและก่อสร้างเชื่อมโยงไปชายแดนอำเภอ สุไหงโก – ลก – หาดใหญ่ ไปถึงหนองคายรถไฟทางคู่ ระบบถนนจะเป็นบริการระบบขนส่งเสริม หรือ Feeder เข้าสู่ระบบรางซึ่งจะเป็นหลักในการขนส่งกระจายสินค้า คนและนักท่องเที่ยว ทำให้ความเจริญความมั่งคั่งก็จะตามมาอย่างแน่นอน

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการควบคุมอากาศยานทางทะเล (Seaplane) แหลมตาชี จังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยว ช่วยลดความแออัดภายในสนามบินหลักของประเทศ และเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้านการท่องเที่ยวโดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้กับการดำเนินภารกิจของหน่วยงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนโดยบวท. ได้ศึกษารูปแบบปฏิบัติการบิน แบ่งเป็น การบินขนส่งผู้โดยสารและการบินเพื่อชมภูมิประเทศ โดยมีประโยชน์ที่จะได้รับจากการให้บริการฯ Seaplane ได้แก่ 1) ลดระยะเวลาการเดินทาง 2) ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง (Premium/Luxury) 3) ส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในเส้นทางใหม่ ๆ 4) เพิ่มมูลค่าการขนส่ง และ 5) สามารถประยุกต์ใช้ Seaplane ในกิจการต่าง ๆ นอกจากนี้ได้มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาการพัฒนาพื้นที่ในความดูแลที่สามารถพัฒนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ได้แก่ สถานีเทพา สถานีวัดช้างให้ สถานีสะพานดำยะลา และสถานีสุไหงโก – ลก ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอแนะแผนท่องเที่ยวโครงการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสามารถเดินทางไป – กลับได้ 1 Day Trip

จากนั้นคณะรัฐมนตรีเดินทางต่อไปยังมัสยิด อัล – นูร์ ปลายแหลมตาชี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เพื่อพบปะประชาชนและผู้นำศาสนา พร้อมติดตามการขับเคลื่อนงานต่อไป

 141 total views,  2 views today