วันนี้ (25 ก.ค.2566) ที่ ห้องประชุมน้อมเกล้า ศอ.บต. คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม 10 ประเทศ เดินทางเยือนพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศ และศอ.บต. เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการทูตเชิงรุก สร้างความเข้าใจและสร้างการรับรู้อันดีเกี่ยวกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แก่นานาชาติ โดยมี เอกอัครราชทูตจากประเทศมาเลเซีย คูเวต โอมาน อียิปต์ อินโดนีเซีย ตุรกี โมร็อกโก ซาอุดีอาระเบีย และอุปทูตจากสถานเอกอัครราชทูตกาตาร์ และปากีสถาน จำนวน 10 ประเทศ
ทั้งนี้ ในช่วงเช้า ทางคณะเอกอัครราชทูต /อุปทูตได้รับฟังบรรยายสรุปภาพรวมนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ จาก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และ กอ.รมน ภาค 4 ส่วนหน้า
โดย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.ได้นำเสนอ มิติงานด้านการพัฒนา 3 จังหวัดที่มุ่งเป้า เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถอยู่ร่วมกันได้ในวิถีสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาอย่างเป็นธรรม ไม่แบ่งแยก และเท่าเทียมในทุกศาสนา และได้พัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพที่ยั่งยืน เพื่อกระจายรายได้ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกมิติ
ด้าน นายนริน เวโรจน์วิวัฒน์ ผู้แทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้บรรยายสรุป สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา อีกทั้ง สถิติการก่อเหตุ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 – 30 มิ.ย. 2566 มีสถิติการก่อเหตุรุนแรง จำนวน 86 เหตุการณ์ สถิติผู้เสียชีวิต 33 ราย และบาดเจ็บ 110 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 พบว่า มีสถิติการก่อเหตุรุนแรง มีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 69.44 สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ในภาพรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ เป็นผลจากการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งให้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ได้รับการแก้ไขจนเกิดความสงบและสันติสุขอย่างยั่งยืน ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม
ขณะที่ พลตรี ไพศาล หนูสังข์ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้บรรยายการดำเนินงานควบคุมพื้นที่ ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่เน้นการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยยึดหลักการบังคับใช้กฎหมายด้วยความโปร่งใส เสมอภาค และเป็นธรรม ภายใต้การรับรู้และมีส่วนร่วมของผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และเครือญาติ และใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก คำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งหมายให้เกิดความสงบในสังคม และประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข
ภายหลังการรับฟังสรุปสถานการณ์ H.E. Mr. MOUSTAPHA ELKOUNY (นายมุศเฏาะฟา เอลกูนี ) เอกอัครราชทูต อียิปต์ ได้ซักถาม เกี่ยวกับ สถานการณ์ ปัญหาของเหตุรุนแรงในพื้นที่ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร โดย เลขาธิการ ศอ.บต.ได้ตอบข้อซักถาม ว่า ปัญหาความรุนแรงตั้งแต่ปี 2547 นั้น สาเหตุหลัก ประการแรก คือ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจส่วนที่ 2 คือ ปัจจัยทางสังคมจิตวิทยา โดยเฉพาะเรื่อง อัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม ที่ประชาชนในพื้นที่มีความรู้สึกว่ายังไม่ได้รับการยอมรับ สนับสนุนจากภาครัฐ และต้องการพื้นที่ในการแสดงออกทางอัตลักษณ์อย่างเพียงพอส่วนที่ 3 คือ การแก้ปัญหา การดูแลเรื่องความยุติธรรมในพื้นที่ซึ่งทั้ง 3 ส่วน รัฐบาลไทยได้พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด หนุนเสริม สร้างการพัฒนาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องความยากจน และเน้นแก้ปัญหาแบบสันติวิธี โดยใช้การพูดคุยสันติสุข ซึ่งไทยพยายามทำอย่างดีที่สุด และตั้งเป้าหมายไว้ว่าอีก 4 ปี จะสามาถยุติความรุนแรงได้โดยคณะทูต กลุ่มประเทศมุสลิม 10 ประเทศ มีกำหนดการเยือนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นเวลา 3 วัน ระหว่าง วันที่ 25-27 ก.ค. 66 เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม ได้ไปสื่อสารสร้างความเข้าใจ ให้เห็นว่าประเทศไทยได้ดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
สวท.ยะลา กรมประชาสัมพันธ์